พระอัจฉริยภาพทั้ง 9 ด้าน "My King ในหลวงของเรา"

"My King ในหลวงของเรา" ภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอปรัชญาแห่งการใช้ชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง ผ่านพระราชประวัติ ที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพ พระวิริยะอุตสาหะ สารคดีจากเรื่องจริง และ แรงบันดาลใจโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล พร้อมการนำเสนอพระอัจฉริยภาพทั้ง 9 ด้านของ "My King ในหลวงของเรา" เพื่อเป็นวิชาชีวิตและธรรมะให้กับคนไทยทั้งชาติ ดังนี้

1. ธรรมชาติหล่อหลอม : ด้านธรรมชาติ
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นเจ้านายเล็กๆ ประทับที่วังสระปทุมระหว่างปี พ.ศ. 2471 - พ.ศ. 2476 ของเล่นพระองค์คือ จินตนาการที่จะนำดิน ทราย ต้นไม้ที่มีอยู่แถวนั้นมาทำเป็นสิ่งก่อสร้าง เมื่อมีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมยังวังไกลกังวลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โปรดที่จะขุดทรายบริเวณชายหาดหน้าพระตำหนักเป็นบ่อน้ำ ซึ่งทรงเปรียบเทียบเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทรงเฝ้าคอยเวลาที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ทรงพระสำราญในการทอดพระเนตรพฤติกรรมของน้ำที่ไหลเข้าออกจากอ่างเก็บน้ำไปตามคูส่งน้ำแต่ละสาย 

2. สายธารแห่งดนตรี : ด้านดนตรี
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับแรกๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นเพลง แสงเทียน, ยามเย็น และสายฝน  เกิดขึ้นเพราะความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังในทางดนตรี เมื่อสำเร็จนำออกแสดงต่อสาธารณชน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างสูง ทำให้พระองค์ทรงเห็นว่า สื่อกลางที่ดีมากในการประสานพระองค์เข้ากับพสกนิกรก็คือ ดนตรี ดังนั้น หลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จุดมุ่งหมายในการทรงดนตรีและพระราชนิพนธ์เพลงในปีต่อๆ มาจึงเป็นไปเพื่อแสดงในสิ่งที่จะเป็นการสร้างสรรค์ให้เป็นทางที่ชักนำให้คนเป็นคนดี และมีความเจริญ

3. บันทึกผ่านเลนส์พ่อ : ด้านถ่ายภาพ
พ.ศ. 2488 เป็นปีที่ชาวไทยมีโอกาสชมพระบารมีของกษัตริย์ผู้จากบ้านเกิดไปนาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเพียงพระองค์เดียว แต่มาคู่กันกับพระอนุชาซึ่งเติบโตเป็นชายหนุ่มเต็มวัย และมีคนสังเกตเห็นภารกิจหนึ่งของพระอนุชาพระองค์นี้คือ การถือกล้องคอยถ่ายภาพสมเด็จพระเชษฐาในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่มากมายหลายแห่ง การมีโอกาสถ่ายทอดเหตุการณ์ นั่นคือพลังของการถ่ายภาพ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมได้ นี่คือสิ่งที่ในหลวงของเราทรงปฎิบัติมาอย่างยาวนาน

4. ความงดงามแห่งศิลปวิทยาการ : ด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม
ในภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ทรงใช้ทั้งสีน้ำมัน สีชอล์ก และสีน้ำ แต่เทคนิคที่ทรงใช้มากที่สุดคือ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ โดยทรงลงพระปรมาภิไธยย่อในแต่ละภาพว่า "ภ.อ." ส่วนรูปแบบภาพแบ่งเป็นภาพเหมือนจริง ภาพแสดงความรู้สึกแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ และภาพที่เป็นศิลปะแบบนามธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์ว่า ทรงวาดเองอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือ ทรงวาดตามจินตนาการ มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฏเกณฑ์อันใด ภาพเขียนฝีพระหัตถ์จึงแสดงถึงลักษณะที่เป็นอิสระ เฉพาะตัว

5. แรงลม แรงน้ำ และแรงใจ : ด้านกีฬา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักทรงศึกษาอย่างจริงจังและทรงฝึกฝนจนปฎิบัติได้ดี กีฬาเรือใบก็เช่นเดียวกัน มีพระราชประสงค์จะต่อด้วยพระหัตถ์เพราะสมัยทรงพระเยาว์ที่โรงเรียนเคยทรงช่างไม้ ภายหลังทรงมีอู่ต่อเรือและสระทดลองแล่นเรือในสวนจิตรลดาด้วยราชปะแตน อันหมายถึง แบบของพระราชา หลังการต่อเรือมีพระราชดำรัสว่า

"ปีใหม่คนอื่นๆ เขาไปฉลองกัน เสียเงินมาก แต่เราเสีย 147 บาทเท่านั้น เป็นค่าไม้ยมหอมและค่าเบียร์ฉลองปีใหม่ แต่เรายังสนุกกว่าเขาอีก แล้วเป็นประโยชน์ด้วย" 7 ธันวาคม พ.ศ. 2507 ทรงนำเรือใบราชปะแตนลงน้ำบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต


6. ธรรมปฎิบัติ : ด้านศาสนา
หลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว10 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชศรัทธาอันแน่วแน่ที่จะทรงพระผนวชในพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี ในขณะพระชนมายุ 29 พรรษา ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า ภูมิพโล การนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำรัสว่า

"พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้เป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่าหัวใหม่ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ"

7. เครื่องมือจากสมองและสองมือ : ด้านนักประดิษฐ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบบึงมักกะสันเสมือนไตของกรุงเทพมหานคร ด้วยเป็นบึงขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากชุมชน ภายหลังเมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น บึงมักกะสันกลับกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค จึงมีพระราชดำริให้มีการบำบัดโดยทรงเน้นวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัด ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยใช้ผักตบชวาช่วยดูดกรองของเสียในน้ำส่วนหนึ่ง อีกส่วนเปิดพื้นที่ผิวน้ำให้แสงอาทิตย์ส่องลงใต้น้ำเพื่อให้สาหร่ายและแบคทีเรียสังเคราะห์แสง สร้างออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น ภายหลังได้มีการใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศเข้ามาเสริมการทำงานอีกทางหนึ่ง

8. ช่วยเขาให้ช่วยเหลือตัวเอง : ด้านนักพัฒนาการศึกษา
พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการช่วยเหลือราษฎรโดยทรงเน้นความสำเร็จของงานที่ความอยู่ดีกินดีของราษฎร มากกว่าความคุ้มค่าในแง่ที่วัดเป็นตัวเงิน เรียกว่าขาดทุนคือกำไร ดังพระราชดำริว่า

"ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ก็ต้องลงทุนต้องสร้างโครงการ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ราษฎรได้กำไรไป ถ้าราษฎรมีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้ารู้รักสามัคคี รู้ว่าการเสียคือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้"

9. รอยยิ้มของมหาชน : พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักพัฒนาแผ่นดินให้เจริญรุ่งเรือง
เมื่อมีผู้สื่อข่าว BBC ขอพระราชทานสัมภาษณ์เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Soul Of Nation ในปี พ.ศ. 2522 โดยได้กราบบังคมทูลถามถึงพระราชทัศนะเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำตอบว่า

"การที่จะอธิบายว่าพระมหากษัตริย์คืออะไรนั้น ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้นก็คือ ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าถามว่า ข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา"




"ในหลวงในดวงใจ" เพลงประกอบภาพยนตร์สารคดี "My King ในหลวงของเรา" ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์]

Go to TOP