
'วันมาฆบูชา' สำคัญอย่างไร? มาทำความรู้จักกัน

ร่วมสืบสานประเพณีเนื่องในวันมาฆบูชา
ซีรี่ส์อินเดียสุดยิ่งใหญ่ที่ต้องมีเก็บไว้สะสม
DVD 'พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก'

วันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยในปี พ.ศ. 2561 นี้ วันมาฆบูชา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าวันมาฆบูชามีความสำคัญอย่างไร มีหลักธรรมและกิจกรรมอะไรที่ปฏิบัติกันในวันนี้บ้าง
ความหมายของวันมาฆบูชา
คำว่า 'มาฆะ' นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า 'มาฆบุรณมี' หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3
ประวัติและความสำคัญของวันมาฆบูชา
เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง 'โอวาทปาฏิโมกข์' แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ 'เอหิภิกขุอุปสัมปทา'

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
หลักการ 3
1. ไม่ทำบาปทุกชนิด จะบาปมากหรือน้อยก็ไม่ทำ เพราะมีกฎแห่งกรรมคอยบังคับอยู่ ดังนั้นจะทำอะไรในชีวิตต้องถามตนเองก่อนว่า บาปไหม ถ้าบาปไม่ทำ
2. ทำความดีให้ถึงพร้อม ความดีอะไรที่มีอยู่ในโลกนี้ถ้ามีโอกาสต้องทำให้เต็มที่ เพราะความดีบางอย่าง เราเองก็ไม่มีโอกาสได้ทำ
3. กลั่นจิตของตนให้ใสตลอดเวลา หมั่นนั่งสมาธิทุกวันไม่ให้ขาด เมื่อใจใสมากเข้าจึงจะเห็นพระนิพพานได้
อุดมการณ์ 4
1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8
วิธีการ 6
1. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
2. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
4. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี
กิจกรรมที่ปฏิบัติในวันมาฆบูชา
1. การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด

2. ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา

3. ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ

ทั้งนี้ในการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน เราไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเฉพาะแค่ในวันสำคัญเท่านั้นนะคะ แต่เราสามารถทำได้ทุกวันทุกเวลา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อตัวเราในวันนี้และอนาคตข้างหน้าด้วยค่ะ